เครื่องเชื่อมท่อ HDPE แบบไฮดรอลิค 315 mm. (12 นิ้ว) รุ่น EX-HY315
เครื่องเชื่อมท่อ HDPE เครื่องต่อท่อ PE ชนิดไฮดรอลิค 4 หัวจับ ขนาด ุ90-315 mm. (3 นิ้ว-12 นิ้ว) สำหรับเชื่อมท่อ HDPE PP-R ด้วยวิธีเชื่อมชนโดยใช้ความร้อนจากแผ่นความร้อนหลอมปลายท่อทั้งสองด้านให้ละลาย แล้วดันท่อชนประสานกัน ตัวเครื่องเชื่อมรองรับการเชื่อมท่อขนาด 90, 110, 125, 140, 160, 180, 200, 225, 250, 280, 315 mm.
ข้อมูลจำเพาะ
รายละเอียดอุปกรณ์
1. ตัวแท่นยึดจับท่อ (Basic Frame)
– ตัวโครงทำจากเหล็ก พร้อมแคล้มจับท่อแบบ 4 หัวจับทำจากอลูมิเนียม
– สองคู่แรกยึดติดกับเพลาเหล็ก อีกสองคู่ยึดติดกับกระบอกไฮดรอลิค
– บังคับการเคลื่อนที่เข้า-ออกของแคล้มจับท่อด้วยระบบไฮดรอลิค
2. ชุดปั๊มไฮดรอลิคและชุดควบคุมการทำงานเครื่อง (Hydraulic unit)
– มีวาล์วคันโยกสำหรับบังคับการเคลื่อนที่เข้า-ออกของตัวจับท่อ
– มีวาล์วปรับแรงดันและเกจวัดความดัน สำหรับควบคุมแรงดันขณะเชื่อมท่อ
– มีชุดควบคุมอุณหภูมิ (Temp Controller) สำหรับตั้งค่าและควบคุมอุณหภูมิแผ่นความร้อน
– มีตัวจับเวลา(Timer) สำหรับตั้งเวลา T2 และ T5ในการเชื่อมท่อ
3. แผ่นความร้อนเชื่อมท่อ HDPE (Heating plate)
– ทำจากอะลูมิเนียมอัลลอยเคลือบด้วยเทฟล่อน ภายในมีขดลวดความร้อน
– ควบคุมอุณหภูมิด้วยชุดควบคุมอุณหภูมิ (Temp Controller)ผ่านสายเชื่อมต่อแผ่นความร้อน
4. เครื่องปาดท่อ HDPE (Planing tool)
– ตัวจานปาด ทำจากอลูมิเนียมอัลลอยติดใบมีดไอสปีดสองด้าน
– ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์คุณภาพสูง ส่งกำลังผ่านระบบเฟืองทด
5. อุปกรณ์อื่นๆ
– ขาตั้งสำหรับวางแผ่นความร้อนและเครื่องปาดหน้าท่อ
– สายเชื่อมต่อตัวแผ่นความร้อนกับชุดควมคุม
– ชุดน็อตประกับ,ไขควง,ประแจ และกล่องเครื่องมือ
5. ชุดประกับจับท่อ
– ตัวประกับทำจากอลูมิเนียมอัลลอย ประกอบกันเป็นชุดตามขนาดท่อ
(มม.) | (นิ้ว) |
90 mm. | 3″ |
110 mm. | 4″ |
125 mm. | 5″ |
140 mm. | 5 1/2″ |
160 mm. | 6″ |
180 mm. | 6 1/2″ |
200 mm. | 7″ |
225 mm. | 8″ |
250 mm. | 9″ |
280 mm. | 10″ |
315 mm. | 12″ |
การเชื่อมท่อ HDPE ด้วยเครื่องเชื่อมท่อแบบไฮดรอลิค
คำอธิบายอุปกรณ์ควบคุมการเชื่อม
[1] วาล์วเดินหน้า-ถอยหลัง (Reversing Valve) = วาล์วคันโยกสำหรับควบคุมการเคลื่อนที่เข้า-ออกของแคล้มจับท่อ
[2] วาล์วควบคุมแรงดัน (Pressure-regulating Valve) = วาล์วหมุนปรับสำหรับตั้งค่าและควบคุมแรงดันที่ใช้ในการเชื่อมท่อ
[3] เกจวัดแรงดัน (Pressure Gauge) = หน้าปัดแบบเข็มสำหรับแสดงค่าแรงดันในระบบไฮดรอลิค
[4] วาล์วลดแรงดัน (Pressure Relief Valve) = วาล์วเปิดปิดสำหรับคลายแรงดันในระบบไฮดรอลิค
[5] ตัวควบคุมอุณหภูมิ (Temp Controller) = หน้าปัดดิจิตอลพร้อมปุ่มปรับ สำหรับตั้งค่าและควบคุมอุณหภูมิแผ่นความร้อน
[6] ตัวจับเวลา (Timer) = หน้าปัดดิจิตอพร้อมปุ่มปรับ ใช้สำหรับตั้งค่าเวลา T2 และ T5 ที่ใช้ในขั้นตอนการเชื่อม
[7] สวิทช์ปุ่มกด Soacking Time สำหรับกดเพื่อเริ่มต้นนับเวลาถอยหลัง T2 ที่ตั้งค่าไว้
[8] สวิทช์ปุ่มกด Cooling Time สำหรับกดเพื่อเริ่มต้นนับเวลาถอยหลัง T5 ที่ตั้งค่าไว้
ขั้นตอนการตั้งค่า
การตั้งค่าอุณหภูมิแผ่นความร้อน
ที่หน้าปัดดิจิตอลตัวควบคุมอุณหภูมิ (Temp Controller) กดปุ่ม Set ค้างไว้ประมาณ 3 วินาที ไฟจะกระพริบเข้าสู่โหมดตั้งค่า จากนั้นกดปุ่มลูกศรขึ้น-ลงเพื่อตั้งค่า ตั้งค่าอุณหภูมิแผ่นความร้อนตามที่ต้องการ จากนั้นกดปุ่ม Set เพื่อบันทึกและออกจากโหมดการตั้งค่า
(อุณหภูมิแผ่นความร้อนที่เหมาะสมสำหรับการเชื่อมท่อ HDPE คือ 220 องศา)
การตั้งค่าแรงดันที่ใช้ในการเชื่อม P1/P3
ที่วาล์วคันโยก (Reversing Valve) ใช้มือดันคันโยกไปข้างหน้าเพื่อเลื่อนแคล้มจับท่อเข้าหากัน ดันชนค้างไว้แล้วสังเกตดูค่าแรงดันที่หน้าปัดเข็มของเกจวัดแรงดัน (Pressure Gauge) จากนั้นใช้มือหมุนวาล์วปรับแรงดัน (Pressure-regulating Valve) หมุนปรับตั้งค่าให้ได้ค่าแรงดันตามตารางกำหนด
การตั้งค่าเวลา T2 และ T5
ที่หน้าปัดดิจิตอลตัวจับเวลา (Timer) กดปุ่ม Set ค้างไว้ประมาณ 3 วินาที ให้ไฟกระพริบที่ T2 จากนั้นกดปุ่มลูกศรขึ้น-ลงเพื่อตั้งค่า ตั้งค่าเวลา T2 ตามตารางกำหนด กดปุ่ม Set อีกครั้งให้ไฟกระพริบที่ T5 จากนั้นกดปุ่มลูกศรขึ้น-ลงเพื่อตั้งค่า ตั้งค่าเวลา T5 ตามตารางกำหนด จากนั้นกดปุ่ม Set หนึ่งครั้งเพื่อบันทึกและอีกหนึ่งครั้งเพื่อออกจากโหมดการตั้งค่า
ขั้นตอนการเชื่อมท่อ
ขั้นตอนที่ 1 นำท่อยึดกับตัวแคลมป์เครื่องเชื่อม
ประกอบไส้ประกับเข้ากับแคลมป์จับท่อเครื่องเชื่อมตามขนาดท่อที่จะเชื่อมแล้วขันน็อตยึดประกับให้แน่น จากนั้นนำท่อที่ต้องการเชื่อมยึดเข้ากับแคลมป์จับท่อทั้งสองด้าน
จับท่อให้อยู่ในแนวเดียวกันโดยให้ปลายท่อยื่นออกมาจากแคลมป์ด้านละประมาณ 30-50 มม. และให้ระดับของท่อทั้งสองด้านเหลือมกันไม่เกิน 10% ของความหนาท่อ ขันน็อตยึดท่อให้แน่น
ขั้นตอนที่ 2 ปาดท่อให้เรียบแล้วทำความสะอาดปลายท่อทั้งสองด้าน
นำเครื่องปาดท่อใส่ระหว่างปลายท่อทั้งสองด้าน กดสวิตช์เดินเครื่องปาดท่อ จากนั้นดันวาล์วเดินหน้าเพื่อเลื่อนให้ปลายท่อทั้งสองด้านเข้าหาตัวเครื่องปาดท่อ
ปาดหน้าท่อจนกว่าปลายท่อทั้งสองด้านเรียบตั้งฉากกับแกนท่อ สังเกตเศษท่อที่ปาดออกมาจะเรียบเป็นวงเสมอกัน ดันวาล์วถอยหลัง หยุดเดินเครื่องแล้วนำเครื่องปาดท่อออก จากนั้นใช้ผ้าชุบแอลกอฮอล์ทำความสะอาดปลายท่อทั้งสองด้าน
ขั้นตอนที่ 3 ใช้ความร้อนหลอมปลายท่อทั้งสองด้าน
นำแผ่นความร้อนใส่ระหว่างปลายทั้งสองด้าน จากนั้นดันวาล์วเดินหน้าเลื่อนปลายท่อเข้าหาแผ่นความร้อนด้วยแรงดันตามที่ได้ตั้งค่าไว้ รอจนกระทั่งปลายท่อทั้งสองด้านเริ่มละลายเป็นตะเข็บความสูงตามตาราง Initial bead height
เมื่อได้ความสูงของตะเข็บตามต้องการ หมุนวาล์วลดแรงดันเพื่อคลายแรงดันลงที่แรงดัน P2 จากนั้นกดสวิทช์ปุ่มกด Soacking Time เพื่อนับเวลาถอยหลัง T2 ตามที่ตั้งค่าไว้
(Initial Bead height คือความสูงของตะเข็บเริ่มต้นภายใต้แรงดัน P1)
(Soaking time [T2] คือระยะเวลาที่ให้ปลายท่อแนบสัมผัสกับแผ่นความร้อนที่แรงดัน P2)
(Soaking เป็นขั้นตอนการบ่มแช่ท่อไว้กับแผ่นความร้อนเพื่อให้ปลายท่อหลอมละลายเต็มที่)
ขั้นตอนที่ 4 นำแผ่นความร้อนออกแล้วดันท่อชนประสานและปล่อยให้เย็นตัว
เมื่อครบเวลา Soaking Time ดันวาล์วถอยหลังเลื่อนท่อแล้วนำแผ่นความร้อนออก จากนั้นดันวาล์วเดินหน้าเลื่อนท่อกลับเข้าชนกันทันทีด้วยแรงดันที่ตั้งค่าไว้ จากนั้นกดสวิทช์ปุ่มกด Cooling Time เพื่อนับเวลาถอยหลัง T5 ตามที่ตั้งค่าไว้ รอให้ท่อประสานและเย็นตัวตามเวลา T5
(Cooling time [T5] คือระยะเวลาที่ปล่อยให้ท่อประสานและเย็นตัวภายใต้แรงดัน P3)
ขั้นตอนที่ 5 นำท่อออกจากเครื่องเชื่อมไปใช้งาน
เมื่อครบเวลา T5 (Cooling time) หมุนวาล์วลดแรงดันเพื่อคลายแรงดันลงที่ 0 ฺบาร์ จากนั้นขันน็อตยึดแคลมป์จับท่อแล้วนำท่อออกจากเครื่องเชื่อม นำท่อไปใช้งาน (ระวังอย่าทดสอบแรงดันน้ำก่อนที่ท่อจะเย็นตัวลงอย่างสมบูรณ์ภายใต้อุณหภูมิอากาศ)